ชาติวุฒิ บุณยรักษ์

Chartvut Bunyarak, a man who fall in love with short story.

วันอาทิตย์, ตุลาคม ๐๑, ๒๕๔๙

ความเรียงเกี่ยวกับภาพยนตร์ : Finding Nemo

Finding Nemo-เด็กน้อยในตัวเราที่หายไป

หากเป็นสักยี่สิบปีก่อน คงไม่แปลกอะไร หากผมจะตั้งนาฬิกาปลุกเพื่อตื่นแต่เช้ามานั่งเฝ้าหน้าจอทีวี เพื่อรอดูการ์ตูนดังวันหยุด...แต่คงไม่บ่อยครั้งนักที่ Animation สักเรื่อง จะสามารถตรึงใจชายอายุไกลจากวัยเด็กอย่างผมได้ หากมันไม่มีอะไรบางอย่างมากพอ เหมือนที่นีโม่ได้ให้กับผม...


จริงๆ แล้ววิธีคิดแบบเด็ก การมองโลกแบบเด็กๆ เป็นสิ่งที่ปราชญ์ผู้คงแก่เรียนในหลายสถาน ย้อนไปเมื่อหลายพันปีก่อนต่างซูฮกยอมยกให้ ถึงขนาดว่าบางสำนัก (School) นั้น ใช้รูปเด็กเป็นโลโก้กันเลยทีเดียว แน่นอนว่าสิ่งนั้นย่อมมีต้นสายปลายเหตุที่ซับซ้อนแยบยลตามประสาปราชญ์...

สายความเชื่อหนึ่งเคยกล่าวเอาไว้ว่า ความเป็นพหูสูตรนั้นล้วนมีอยู่ในตัวเราทุกคนตั้งแต่ยัง ‘เด็ก’ วิธีคิดและการมองโลกแบบเด็กๆ บางครั้งผู้ใหญ่อย่างเราก็ไม่ควรมองข้ามและมิอาจปฏิเสธได้เลยว่า มันช่างจำเป็นต่อการใช้ชีวิตบนโลกบูดๆ เบี้ยวๆ ใบนี้ยิ่งนัก...เคยสังเกตเห็นเด็กในหมู่บ้านทะเลาะกัน...เพียงชั่วข้ามคืน พวกเขากลับลืมเลือนเรื่องบาดหมางไปเสียสิ้น รุ่งขึ้นอีกวัน ก็เห็นมาวิ่งเล่นไล่กันอีกแล้ว...แต่เมื่อเราเติบใหญ่ขึ้น สิ่ง ‘ภายใน’ เหล่านี้ก็ค่อยๆ เลือนหายไป...‘ความเป็นเด็ก’ ในตัวเรา สูญเสียไปให้กับอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งกว่าที่เราจะตระหนักรู้นั้น อาจบางทีมันก็สายเกิน ไปเสียแล้ว...

Finding Nemo คือเรื่องเล่ามหัศจรรย์ของมาร์ลิน (ปลาการ์ตูนผู้พ่อ) ที่ออกตามหาลูกชาย (นีโม่) ซึ่งถูกจับตัวไปโดยหมอฟันนักประดาน้ำ การผจญภัยอันน่าพิศวงนี้ เกือบทั้งหมดเกิดขึ้นในโลกใต้ทะเลลึก เนื้อหนังเต็มไปด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจ เริ่มตั้งแต่ซีนแรกซึ่งเปิดเรื่องโดยให้ผู้ประกาศข่าวทางโทรทัศน์ที่แสดงโดยคนจริงๆ สัมภาษณ์ตัวเอกของเรื่องทั้งสาม คือ มาร์ลิน, นีโม่ และโดรี่ (ปลา...ผู้เป็นโรคความจำสั้น) อีกทั้งมีการผูกเรื่องที่สนุกชวนติดตาม มีวิกฤตการณ์ให้ต้องแก้ไขเหมือนอย่างที่หนังการ์ตูนหลายๆ เรื่องเป็นกัน แต่สิ่งหนึ่งซึ่งต่างออกไปจากการ์ตูนแนวอภินิหาร-เทพนิยาย-เจ้าชายเจ้าหญิง แบบเดิมๆ จนสัมผัสได้ก็คือ “ความสมจริง”

และสิ่งเดียวกันนี้เอง ก็ปรากฏอยู่ใน Animation เรื่องอื่นๆ ที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกัน ตัวละครอ้วนตุ๊ต๊ะหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัวตัวเขียวๆ ซึ่งห่างไกลจากภาพพจน์ของเจ้าชายรูปงามอย่าง Shrek (ค่าย DreamWorks SKG) ก็มิต่างจากปลาการ์ตูนอย่างมาร์ลิน ที่ยังคงลักษณะของปุถุชน (แบบปลาๆ) เอาไว้ นั่นคือยังคงมี รัก โลภ โกรธ หลง มีความกลัว ท้อแท้สิ้นหวัง กล้าหาญเมื่อถึงคราวจำเป็น (กระทั่งนีโม่เองก็เป็นปลาพิการ มีครีบข้างลำตัวขนาดไม่เท่ากัน-มีความพร่อง, ส่วนมาร์ลินก็เป็นโรคหวาดระแวง-Paranoid) ซึ่งกลายเป็นจุดเด่นของทีมผู้สร้าง ที่สามารถสอดแทรกบุคลิกของความเป็น “คนธรรมดาๆ” เอาไว้ในตัวละครที่สร้างสรรค์ขึ้นมาได้อย่างลงตัว ในแง่นี้ผู้ชมจะรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งกับหนังการ์ตูนไปโดยไม่รู้ตัว ตัวละครเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นวาฬ ฉลาม ทูน่า เต่ากระ ฯลฯ จึงเสมือนหนึ่งมีชีวิตขึ้นมาจริงๆ ในฐานะที่ไม่ใช่ทั้งสัตว์และตัวการ์ตูน...

นอกจากความสมจริงแล้ว เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ ที่ซ่อนไว้ในรายละเอียดของหนังก็น่ารักไม่เบา ผมเองก็เพิ่งจะรู้จากการ์ตูนเรื่องนี้ ว่าปลาการ์ตูนจะวางไข่ครั้งละประมาณ 400 ฟอง (เห็นตัวเล็กๆ อย่างนั้นก็เถอะ) ‘อะเนโมนี’ เป็นชื่อของดอกไม้ทะเลสายพันธุ์หนึ่ง ที่ปลาการ์ตูนใช้อาศัยอยู่เป็นบ้าน...สิ่งสำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือสิ่งที่พ่อลูกคู่นี้ได้เรียนรู้จากกันและกันระหว่างการผจญภัย ซึ่ง “บอกอะไร” กับผู้ใหญ่ตัวโตๆ อย่างเราได้มากมายนัก แต่ในเงื่อนไขที่ว่าหัวใจของเราต้องนิ่งและละเอียดอ่อนเพียงพอ...

ลองออกจากบ้านไปเช่า Finding Nemo มาดู คุณอาจจะแปลกใจ ที่ปลาการ์ตูนในหนังการ์ตูนสามารถสอนอะไรที่มันไม่ ‘การ์ตูน’ ให้กับเราได้บ้าง แล้วคุณจะรู้ว่าบางครั้งการ ‘ปลุก’ ให้เด็กน้อยในตัวเราผู้กำลังหลับใหล ได้ออกมาวิ่งเล่นเพ่นพล่านเสียบ้าง ก็เป็นเรื่องที่สนุกดีไม่หยอก.

..........................................

(ภาพ : Anonymous ที่มา : http://www.nemotour.com/photo/nemo300.gif)

All Rights Reserved.
2006 Copyright©Chartvut Bunyarak