ชาติวุฒิ บุณยรักษ์

Chartvut Bunyarak, a man who fall in love with short story.

วันอาทิตย์, ตุลาคม ๐๑, ๒๕๔๙

ความเรียงเกี่ยวกับภาพยนตร์ : Mysterious Skin

Mysterious Skin, มนุษย์ต่างดาว-ปมวัยเด็ก-ความทรงจำที่สาบสูญ

หากมีใครถามว่า Mysterious Skin เป็นหนังยังไง ผมคงตอบไปสั้นๆ ก่อนอย่างไม่ลังเลว่า “เป็นหนังเกย์” ทั้งนี้เพื่อเป็นการหยั่งเชิงว่าผู้ถามจะสนใจใคร่รู้แค่ไหน เพราะไม่ใช่ทุกคนในโลกที่พร้อมจะดูหนังทุกประเภท ภายใต้เงื่อนไขเดียวที่ว่าต้องเป็นหนังดีและ “มีอะไร”
บางอย่าง...หลายคนเมื่อได้ยินคำว่า “เกย์” ก็หมดคำถามในพลัน บางคนเงียบไปชั่วขณะก่อนจะเอ่ยถามต่ออีกนิดอย่างพอเป็นพิธี น้อยคนนักที่ยังคงซักไซร้ไล่เรียงถามต่อถึงเรื่องราวและความน่าสนใจของมัน...

แต่ไม่ว่าจะเป็นความเงียบระหว่างบทสนทนาในรูปแบบใดก็ตาม มันชวนให้ตีความไปได้ไม่มากมายนัก บางคนอาจไม่ได้มีอคติอะไรกับเพศที่สาม หากแต่ยังไม่พร้อมขนาดจะเปิดรับได้ทุกซอกมุม หรือเหตุผลง่ายๆ ที่สุด อาจเพียงแค่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ...ก็เท่านั้น แต่กับอีกหลายคนอย่าว่าแต่จะดูหนังเกย์เลย เอาแค่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ร่วมกับบุคคลที่มีรสนิยมทางเพศแตกต่างจากตน แค่นั้นพวกเขาก็ยากจะทำใจยอมรับได้แล้ว นั่นเป็นเพราะพวกเขาอาจยังไม่เข้าใจว่า เกย์หรือเลสเบี้ยนไม่ได้แตกต่างอะไรจากผู้ชายหรือผู้หญิง เส้นบางๆ เส้นเดียวที่คั่นเราออกจากกัน ก็คือรสนิยมทางเพศแค่นั้นเอง...

คำถามที่ตามมาคือ พวกเขาผิดด้วยหรือ...สำหรับผมแล้วพวกเขาไม่ผิดหรอกครับ พอๆ กับคนที่ชอบในเพศรสเดียวกันก็ไม่ได้ผิด เพราะจะอย่างไรพวกเราก็ล้วนแต่เป็น “ผู้ถูกกระทำ” ด้วยกันทั้งนั้น

ย้อนไปตั้งแต่จุดกำเนิดของชีวิต เอาเข้าจริงแล้วมีใครเคย “เลือก” ได้บ้างไหมครับ เลือกที่จะเกิดหรือไม่เกิด เลือกที่จะมีเพศใด มีรสนิยมอย่างใด มีทัศนคติ มีชุดความคิดความเชื่อแบบใด...ในเมื่อเด็กเกิดมาก็ไม่ต่างไปจากเฟรมผ้าใบสีขาวรอเวลาให้ศิลปินใหญ่มาป้ายปาดฝีแปรง...เราทุกคนจึงล้วนเป็นผู้ถูกกระทำ ต่างกันตรงที่ว่าเราถูกกระทำจากอะไร โดยใคร เมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร...เราอาจถูกสั่งสมขัดเกลาป้อนชุดข้อมูลมากมายมหาศาลที่เราไม่เคยมีโอกาสได้เลือก จากครอบครัว คนรอบข้าง หรือจากสังคม ค่านิยมที่ฝังอยู่ในหัวบอกเราว่าต้องสอบเอ็นท์ฯ ให้ติดจะได้เป็นคนเก่ง-เป็นคนดี-มีอนาคตไกล-ทำให้พ่อแม่ภูมิใจ เราจึงท่องตำรับตำราเป็นบ้าเป็นหลัง เพียงเพื่อจะค้นพบในอีกสิบปีถัดมาว่า ปริญญาไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต...ใช่ครับ...คุณก็เป็นเหยื่อ ผมก็เป็นเหยื่อ นีล แม็คคอร์มิก ก็เช่นกัน...

ความมืดหม่นที่ถูกซุกซ่อนอยู่ในหัวใจ ถูกถ่ายทอดออกมาผ่านนีล แม็คคอร์มิก เด็กน้อยวัยแปดขวบผู้เหว่ว้าขาดอ้อมอกอุ่นๆ ของพ่อ และใช้ชีวิตอยู่กับแม่ที่โหยหาความรักครั้งใหม่เพียงลำพัง วันหนึ่งเมื่อแม่ส่งเขาเข้าทีมเบสบอลประจำเมืองได้ไม่นาน เขาก็ติดหนึบเข้ากับโค้ชหนุ่มหล่อใจดีอย่างแยกไม่ออก ทุกอย่างคงจะราบรื่น ถ้าหากเพียงแต่ว่าไอ้โค้ชคนนั้นจะไม่ใช่พวกโรคจิตที่ชอบเด็ก...ความเจ็บปวดที่ถูกกลบฝังไว้ใต้ความทรงจำอันลางเลือน ถูกถ่ายทอดผ่านไบรอัน แล็กคีย์ ชายหนุ่มอายุสิบแปดปีผู้เชื่ออย่างฝังหัวว่า เมื่อตอนอายุแปดขวบเขาเคยถูกมนุษย์ต่างดาวลักพาตัวไปเพื่อทำการทดลอง ด้วยเหตุนี้ความทรงจำในวัยเด็กของเขาจึงหายไป 5 ชั่วโมงอย่างไร้ร่องรอย เขาจึงโตมากับการหมกมุ่นค้นคว้าหาคำตอบที่ว่า ช่วงเวลา 5 ชั่วโมงที่หายไปนั้นเกิดอะไรขึ้นกับเขา...

Mysterious Skin ถือเป็นการปฏิวัติรูปแบบการทำงานของเกรก อารากิ ราชาแห่งหนังเกย์สมัยใหม่(New Queer Cinema) และผู้กำกับหัวขบถของอเมริกา เจ้าของผลงานอันลือลั่นเมื่อหลายปีก่อนอย่าง “Doom Generation” เหตุที่หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากนวนิยายของสกอตต์ เฮม แทนที่เขาจะเป็นผู้เขียนบทเองเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา และอาจเป็นด้วยปัจจัยนี้เองที่ทำให้เทคนิคการเล่าเรื่อง การผูก-คลายปมขัดแย้งของตัวละครดูมีชั้นเชิง มีสีสันน่าสนใจ และมีความเป็นฟิคชั่น(แต่สมจริง)อยู่สูง เนื้อหนังเต็มไปด้วยความเครียดและฉากสุดแรง อย่างตอนที่นีลถูกทารุณกรรมทางเพศด้วยความป่าเถื่อนของสัตว์นรก...แต่แปลกที่มันไม่ชวนให้ผมอยากกดปุ่ม stop เลยสักครั้ง อีกทั้งยังไม่เคยคิดสงสัยแม้แต่น้อยเลยว่า เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้เคยเกิดขึ้นจริงบ้างหรือไม่...ท่ามกลางโลกอันซับซ้อนและสับสนวุ่นวาย เราต่างต้องตกเป็นเหยื่อของอะไรสักอย่างหนึ่งด้วยกันทั้งนั้น อยู่ที่ว่าคุณเลือกจะเป็น “เหยื่อผู้รู้เท่าทัน” หรือไม่เท่านั้นเอง

ในตอนต้นผมลืมบอกคุณไปว่า Mysterious Skin “เป็นหนังเกย์” แต่ว่า...มันมีอะไรมากกว่านั้น.

................................................


(ภาพ :Anonymous ที่มา : http://thecia.com.au/reviews/m/images/mysterious-skin-2.jpg)

All Rights Reserved.
2006 Copyright©Chartvut Bunyarak